วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วย "กุ้งทองไคโตซาน"

เรื่อง : ทิวไผ่

ในสภาวะเศรษฐกิจข้าวยาก หมากแพงเช่นทุกวันนี้ เกษตรกรต้องส่ายหัว เพราะราคาปัจจัยการผลิตได้ถีบตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เกษตรกรตาดำๆยิ่งทำมาหากินได้ยากขึ้น

นอกจากนั้นราคาผลผลิตก็ยังคงเป็นอะไรที่ยังไม่ดึงดูดใจให้ใครกล้าทุ้มทุนหาสิ่งต่างๆมาพัฒนาผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาคิดว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนไปโดยป่าวประโยชน์ การที่เกษตรกรจะมีแนวคิดเช่นนั่นอาจจะไม่ผิด เพราะสถานการณ์ “การส่งออกมันสำปะหลังของบริษัทสัญชาติไทย ยังคงวิ่งตามหลังผู้ส่งออกสัญชาติจีนอยู่หลายเท่าตัว”

กลับมามองในมุมของผู้ผลิต แม้หลายคนจะ “ละเหี่ยใจ” กับราคาซื้อขายผลผลิต ล่าสุดผู้ที่ในวงการมันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมาเผยว่าราคามันสดตอนนี้ราคาอยู่ที่ 2.50 บาทต่อกิโลกรัม ที่เปอร์เซ็นแป้ง 25% ราคามันแห้งที่ 6 บาทต่อกิโลกรัม หากแต่ก็ยังคงมีคนยังตั้งหน้าตั้งหากลยุทธ์ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ภายใต้ต้นที่ต่ำลงทุกปี

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เดินทางมุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครราชศรีมาเพื่อนำข้อมูลของผู้ปลูกมันสำปะหลังท่านหนึ่งมาฝาก ประเด็นที่น่าจับตามองนั่นคือแนวทางในการจัดการไร่ที่เขาได้ใส่รายละเอียดต่างๆลงไปพลิกฟื้นพื้นที่ให้มีชีวิตชีวาทำให้ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี ยกระดับฐานะทางการเงิน และ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


เกษม บุญลือ และ ภรรยา มีพื้นที่ทำเกษตรเริ่มต้นเพียง 8 ไร่เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่ผู้เขียนเคยเดินทางไปเยี่ยมเยือนแล้วหนหนึ่ง ครานั้นเขาเคยเล่าให้ฟังว่าในพื้นที่ 8 ไร่ปลูกทั้งมันสำปะหลัง ปลูกทั้งข้าวโพด หาแต่ผลผลิตมันสำปะหลังที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ต่อไร่นั้น ซึ่งส่วนใหญ่ชาวไร่มันเขตนั้นก็จะได้ประมาณนี้ทั้งนั้น อีกทั้งเพลี้ยแป้งกำลังระบาดด้วย

“ย้อนไปเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว เริ่มแรกตอนที่ผมก็ยกร่องปลูกธรรมดานี้แหล่ะ ลงทุนก็ไม่แพงเพราะปัจจัยการผลิตยังมีราคาถูกอยู่ ปุ๋ยก็กระสอบละ 300-500 บาท แต่ตอนนี้แพงขึ้นปุ๋ยกระสอบละ 1,000 ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตที่ได้คือไร่ละ 2 ตัน นี้คือเต็มที่แล้ว เมื่อก่อนก็ทำกันแบบนี้หละ แต่มันไม่ถูกวิธี และไม่มีใครมาแนะนำ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทำไปตามความคิดของตัวเอง ระยะปลูกยกร่องเพียง 40 เซนติเมตร แต่ไม่รู้ว่า 1 ไร่ ปลูกได้กี่ต้น  เรื่องต้นพันธุ์ก็ยังไม่รู้เรื่องเลย ไม่มีการคัดใดๆทั้งสิ้น ทำตามวีถีชาวบ้าน

            เรื่องหนี้สินก็กู้กับนายทุนที่อยู่ภายในหมู่บ้านดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตอนนั้นเป็นหนี้อยู่ 3 หมื่นบาท เมื่อขายมันได้ก็เอาไปคืนแล้วก็กู้มาใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อมาลงทุนอีก กู้แบบนี้อยู่เรื่อยๆหมุนเวียน พอให้เขาได้เห็นเงินแล้วก็กู้ออกมาลงทุนใหม่ แต่ไม่ได้อะไรเลยนะ และต้องใช้ดอกด้วย ทรัพย์สินที่มีในตอนนั้นก็คือมอเตอร์ไซคันเก่าๆอยู่ 1 คัน แล้วเมื่อก่อนความเป็นอยู่ก็จนมากๆ ต้องทำงานรับจ้างทุกอย่าง เคยเข้ากรุงเทพฯทำงานก่อสร้างเหนื่อยมาก หลังจากที่ปลูกมันเสร็จก็ต้องหาอาชีพเสริมจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะรายจ่ายมันเยอะมาก ต้องดิ้นรนทุกอย่าง”



ต่อมาเขาได้เริ่มแก้ไขรูปแบบการทำไร่อ้อยด้วยวิธีการหาแนวทางกำจัดเพลี้ยแป้ง เกษมได้นำเอารูปแบบ “พิมายโมเดล” มาเป็นแนวทาง ซึ่งปีแรกในการเข้าระบบพิมายโมเดลเกษมได้ปลูกมันไปแล้ว 5เดือน จึงทำให้ประสิทธิผลที่ได้รับจึงไม่เต็มร้อยเท่าไร อีกทั้งเพลี้ยแป้งได้กัดกินดูดน้ำเลี้ยงไปค่อนข้างมากแล้วด้วย เขาเล่าให้ฟังต่อว่าเคยมีตัวแทนจำหน่ายตัวยาต่างๆมาแนะนำให้ใช้ยาหลากหลายชนิดเช่นกัน แต่มันก็ไม่ได้ผลเท่าไร

“พอผมคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำแบบใหม่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนดีหรือเปล่า เดี๋ยวก็เอาอันนั้นมา อันนี้มาให้ฉีด ก็ทำอยู่อย่างนั้นก็ไม่โต ไม่งามซักที ปีแรกก็ไม่โต เราก็เริ่มกลุ้มใจนิดๆ ว่าคงโดนหลอกแล้ว แต่พอได้รู้จักเฮียชัชพงษ์ จึงเริ่มมาทำร่องแบบใหม่อย่างที่เห็นคือ ปลูกแบบสลับฟันปลา ตามแนวที่เขาบอก ทำตามพิมายโมเดลปีแรกก็ประมาณ 50% เพราะผมยังลังเล จะถอยหรือเดินต่อยังไม่แน่ใจ ขุดหัวมันมาปีแรกได้ 25 ตันต่อ 8 ไร่ และมันที่ได้มาก็หัวไม่สวยเลย”

เกษมได้เริ่มต้นทำมันสำปะหลังรูปแบบใหม่หลังจากได้ทดลองตามแบบพิมายโมเดลที่ได้รับคำแนะนำจากคุณชัชพงษ์ หากแต่ในครั้งแรกเขายังคงไม่กล้าที่จะทดลองอย่างเต็มร้อยเท่าไรผลผลิตจึงได้เฉลี่ยเพียง 3 ตันต่อไร่ ในปีต่อมาเขาได้ทดลองทำไร่มันในรูปแบบพิมายโมเดลเต็มรูปแบบ


แผนพัฒนาและเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง พิมายโมเดล เป้าหมาย 3 ปี (เปลี่ยนพันธุ์ปลูกทุกปี)

                1.หลังจากสำรวจพบว่าบ่อยครั้งที่ปลูกไปเพียง 3-5 เดือน แต่โดนเพลี้ยแป้งเข้าทำลายจนได้ไถทิ้งอย่างเดียว เท่ากับว่าเกษตรกรรายนั้นเทียบเท่ากับการอยู่ชั้น อนุบาล

                2.เกษตรกรที่ไร่มันสำปะหลังมานานแต่ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3-4 ตัน/ไร่ เทียบเท่ากับอยู่ชั้น ประถม

                3.เกษตรกรที่ไร่มันสำปะหลังมานาน ได้รับปริมาณน้ำตามธรรมชาติ แต่ได้ผลผลิตเฉลี่ย 5-9 ตัน/ไร่ เทียบเท่ากับอยู่ชั้น มัธยม

                4.เกษตรกรที่ไร่มันสำปะหลังโดยมีการวางระบบน้ำพุง แล้วในปีแรกได้ผลผลิตเฉลี่ย 10-15 ตัน/ไร่ เทียบเท่ากับอยู่ชั้น ปริญญาตรี

                5.เกษตรกรที่ไร่มันสำปะหลัง มีการวางระบบน้ำพุ่งได้ผลผลิตในปีแรกและปีต่อไปเฉลี่ย 16-24 ตัน/ไร่ เทียบเท่ากับอยู่ชั้น ปริญญาโทร

                6.เกษตรกรที่ไร่มันสำปะหลังมีการวางระบบน้ำพุ่งได้ผลผลิตในปีแรกและปีต่อๆไปเฉลี่ย 25-30 ตัน/ไร่ เทียบเท่ากับอยู่ชั้น ปริญญาเอก หรือเป็นด็อกเตอร์ได้เลย

                7.เกษตรกรที่ไร่มันสำปะหลังมีการวางระบบน้ำพุ่งได้ผลผลิตในปีแรกและปีต่อๆไปเฉลี่ย 30-50 ตัน/ไร่ เทียบเท่ากับเป็น ศาสตราจารย์

                แผนพัฒนานี้เริ่มจากการวัดระดับชั้น แล้วจะช่วยให้มองเห็นพัฒนาการของเกษตรกรได้ง่ายขึ้น และได้เริ่มต้นการปรับปรุงแก้ไขได้ตรงระดับความเชี่ยวชาญของแต่ละคน จะสังเกตได้ว่าจะไม่ได้บอกว่าต้องทำให้ได้เท่าไรต่อไร่ แต่จะเน้นที่จะให้เพิ่มผลผลิตต่อยอดจากที่ทำอยู่ เมื่อเกษตรกมองเห็นปัญหาต่อผลผลิตแล้ว ก็เข้าสู่แนวทางการพัฒนาผลผลิตต่อไร่ตามลำดับดังนี้

การเตรียมพื้นที่  

เกษตรกรควรยอมเสียเวลาหันมาใส่ใจเกี่ยวกับดินภายในแปลงปลูกของตัวเองเสียก่อน เพราะเป็นการเริ่มต้นเพื่อพัฒนาให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น โดยโครงสร้างดินที่สมบูรณ์ควรมีน้ำ 25% อากาศ 25% แร่ธาตุอาหาร 45% และ อินทรีวัตถุ 5%

มีการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสม โดยการไถระเบิดดินดานด้วยผาน 3 อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง และมีการนำดินไปตรวจค่า PH แล้วปรับค่าให้เป็นกลางที่ประมาณ 6.5-7 ทุกปีหลังการเก็บเกี่ยว มีการปรับปรุง บำรุงดิน ไม่ว่าจะเป็นการใส่ขี้ไก่แกรบ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักก็ได้ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดิน จากนั้นไถพรวนให้หน้าดินละเอียดเตรียมปลูก และเป็นการคลุกเคล้าปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆให้เข้ากับดินในแปลง ควรเลือกฤดูปลูกเป็นช่วงต้นฝน เพราะดินมีความชื้นสูงจะช่วยให้การเจริญเติบโตได้ดี หากต้องการปลูกในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรควรมีการวางระบบน้ำ หรือเลือกสรรใช้นวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

เกษมบำรุงดินด้วยการนำ “ถ่าน และ แกลบดำ” มาผสมด้วยในแปลงปลูกด้วย ไม่ฉีดพ่นสารเคมี การควบคุมกำจัดวัชพืชก็จะใช้สารอินทรีย์ฉีดพ่นลงไปเพียง 2 ปี หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้ฉีดพ่นอีกเลย อาจจะมีบ้างเล็กน้อยหากแต่เจ้าตัวเข้าจะเข้ามาเดินดูแปลงทุกวันก็จะถอดออกเอง

เกณฑ์ทหารท่อนพันธุ์ ด้วยการคัดต้นพันธุ์ ที่สมบูรณ์แข็งแรง

            ส่วนหนึ่งทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำมาจากการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ทั้งนี้ควรจะเลือกต้นพันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 8-12 เดือน ควรเป็นต้นพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้หลังจากตัดประมาณ 15-30 วัน ก่อนนำมาตัดเป็นท่อน เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วนำมาตัดเพื่อทำเป็นท่อน โดยใช้เลื่อยตัดโคนออกประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วเป็นท่อนๆความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร 1 ต้นพันธุ์จะตัดทำท่อนพันธุ์ประมาณ 3 ท่อน หรือสังเกตที่ไส้กลางลำต้นกับเนื้อต้องเท่าๆกัน หรือ 1 ต่อ 1 ซึ่งจะเรียกว่าเป็นมันหนุ่ม สาว สำหรับส่วนยอดขึ้นมาที่ยังเขียวอยู่เรียกว่ามันอ่อนหากตัดทำเป็นท่อนพันธุ์แล้วนำไปปลูกจะทำให้การเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

              นำท่อนพันธุ์ที่ผ่านการคัดเรียบร้อยแล้วไปแช่ในน้ำยาเร่งรากประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาใส่ถุงปุ๋ยบ่มไว้ 1 คืนแล้วนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ได้ทันที 

ปลูกแบบไม่ยกร่อง และสลับฟันปลาเป็นการเพิ่มพื้นที่การเติบโตของหัวมันได้ดี             

              ในการปลูกมันสำปะหลังแบบไม่ยกร่องส่วนใหญ่เกษตรกรจะขึงเชือกที่ผูกปมไว้ห่างกันตามระยะปลูกที่ต้องการขั้นต่ำประมาณ 1 เมตร  ความห่างของแต่ละร่องปลูกประมาณ 1.20 เมตร นำต้นพันธุ์ปักลงตรงปมที่ผูกไว้ลึกประมาณ 8 เซนติเมตร แบบสลับฟันปลา

              เมื่อปลูกไปได้ประมาณ 25-30 วัน ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์ทางใบ 20 วันต่อครั้ง  จนกระทั้งอายุประมาณ 60 วัน ให้เปลี่ยนมาฉีดพ่นเข้าที่โคนต้น


“ปีที่ผ่านมาพันธุ์มันที่ผมนำมาปลูกยังไม่ได้คัดเลือกสายพันธุ์ ยังมีสายพันธุ์อื่นมาผสมด้วยก็ยังได้ผลผลิต แต่ถือว่าดีพอสมควร การเปลี่ยนแปลงจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เริ่มจากสิ่งแรก คือ ดินจากที่เคยแข็งมากๆ ก็กลับมาร่วนซุย จากการเอาถ่าน เอาแกลบ เอาปุ๋ยปลา หรือเอาอินทรีย์มาใส่ มันคือองค์ประกอบทั้งหมดที่ทำให้ดินดีขึ้น ปีแรกปีสองอาจจะยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร แต่หลังจากนั้นมาจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

             ความรู้สึกวันแรกที่ยังไม่ได้ทำวิธีนี้ก็ไม่อยากเดินมาในไร่เลย ทุกวันนี้อยากเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกอย่างมันดีขึ้นมันมีกำลังใจมากขึ้น สภาพของดินก็ดีขึ้นมาก สามารถเอามือโกยได้โดยไม่ต้องใช้จอบ เวลาขุดมันยิ่งง่ายมาก หัวไม่หักไม่ขาด เวลาจ้างคนงานเขาก็อยากมาทำให้ คือ ทำให้ทำงานง่าย

            ผมมองว่าวิธีการทำไร่มันสำปะหลังเมื่อก่อนมันเป็นวิธีแบบชาวบ้านๆ ไม่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอะไรเลยโดยเฉพาะเรื่องของดิน และ สายพันธุ์ที่นำมาปลูกในพื้นที่เดิมๆ จึงทำให้ได้ผลผลิตไม่ค่อยดี แต่ตอนนี้มันเป็นระบบวิธีใหม่แล้ว ผมเก็บผลผลิตได้มากขึ้นทุกปีอย่างน้อยเพิ่มขึ้นปีละ 10 ตัน ทั้งๆที่พื้นที่ของผมมีอยู่เท่าเดิม”

ใครจะคิดได้ว่าการนำ “เศษถ่าน” มาใส่ในแปลงจะช่วยให้สภาพดินดีขึ้นได้ นอกจากดินที่ความร่วนซุยขึ้นแล้ว เศษถ่านเหล่านั้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าจุลินทรีย์ต่างๆอีกด้วย ในเรื่องของดินที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีเกษมเล่าให้ฟังว่า เขานำปุ๋ยคอก อย่าง ขี้วัว มาใส่ปีเว้นปี พร้อมทั้งฉีดพ่นปุ๋ยปลาไปด้วย จนปัจจุบันนี้เจ้าตัวถึงกลับออกปากว่าจะหยุดใช้ไปก่อนเพราะดินดีมากแล้ว ถือว่าเป็นการลดต้นทุนได้ไปในตัว

ในพื้นที่ 8 ไร่ เขาจะแบ่งโซนปลูกไว้ อย่าง แปลงฝั่งขวาจะปลูกสายพันธุ์มังกรหยก เกษตรศาสตร์ ฝั่งขวาจะปลูกห้วยบง 60 และ ห้วยบง 80 เป็นต้น นั่นก็เพื่อต้องการที่จะทดลองว่าสายพันธุ์ใดเหมาะกับพื้นที่มากที่สุด

“ทดลองมาหมดแล้วครับ คือเราไม่ยึดติดกับพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง เราจะปลูกหลายๆพันธุ์หมุนเวียนกัน จนได้อันที่ดีที่สุด สลับกันไป ปีนี้ฝั่งนี้เอาพันธุ์นี้ ปีหน้าเอาพันธุ์นี้  แต่ก่อนเราก็ไปซื้อเขา แต่ตอนนี้เราไม่ต้องไปซื้อที่ไหนแล้วเรามีพันธุ์เองตลอด หัวมันดี ใหญ่ ยาว น้ำหนักดี   อายุเท่ากัน ใส่ปุ๋ยเท่ากัน แต่มังกรหยกดีกว่า สู้มังกรหยกไม่ได้ ทั้ง 10 ชนิดไม่ว่าจะเป็น เกษตรศาสตร์ 1-2 ห้วยบง 60,80 ก็สู้มังกรหยกไม่ได้ เกร็ดมังกรก็สู้ไม่ได้”

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาเกษมและภรรยาจะเข้ามาดูแปลงปลูกกันทุกวัน เพื่อสังเกตการณ์เจริญเติบโต ทั้งสองต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเห็นว่ามันในไร่โตดี ไม่มีโรคและแมลงมันก็ชื่นใจ มีกำลังใจที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อย สำหรับเรื่องเพลี้ยแป้ง หรือ โรคแมลงก็ถือว่าไม่มี หากแต่ในข้างๆโดนเพลี้ยแป้งลงเสียหายไปก็มาก เคล็ดลับการป้องกันเพลี้ยแป้งระบาดในไร่นั่นเกษมบอกว่าเป็นเพราะเขาได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกต้นพันธุ์ การแช่ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น มันสำปะหลังที่ปลูกจึงแข็งแรงไม่มีโรค แมลงมาทำอันตรายไม่ได้  นอกจากนั้นเขายังยืนยันต่ออีกว่าที่ผ่านมา ไม่เคยเจอการระบาดของเพลี้ยแป้งเลย

             ในระยะเวลา 3-4 ปี เกษมได้เริ่มเดินทางเข้าสู่การทำ “มันอินทรีย์” เต็มตัวแล้วเพราะในกระบวนการจัดการทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวไม่มีการนำเคมีมาใส่เลยไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี หรือ แม้แต่สารกำจัดวัชพืช

“สำหรับเพลี้ยแป้งตอนนี้ในไร่ผมก็มีนะแต่ไม่เยอะ เรื่องดินก็ดีแล้ว รับรู้เรื่องสายพันธุ์มากขึ้น มีการนำสายพันธุ์ใหม่ๆเข้ามาด้วย พันธุ์ที่ได้ทดลองช่วง 1-2 ปี ก็คือพันธุ์ห้วยบง 80 แต่ตอนนี้ก็เพิ่งเอามังกรหยก และเกร็ดมังกร เข้ามา เพราะว่าพันธุ์พวกนี้จะสู้มังกรหยกไม่ได้ สุดยอดเลยดีมากสำหรับในพื้นที่ตรงนี้ จะในประเทศไทยก็ดีมาก ยกให้มังกรหยกดีที่สุด ตอนนี้เฮียชัชพงศ์บอกว่าถ้าใครทำมันได้เพิ่มขึ้นปีละ 10 ตันจะออกเกียรติบัตรให้ จะตั้งเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตชาวไร่”

            
            ในขณะที่เกษมทำไร่มันสำปะหลังไปนั้นในไร่มันจะมีพื้นที่ว่างระหว่างร่องมันเขาจะนำแตกโม และ ข้าวโพดไปปลูกแซมในช่วง 3-4 เดือนแรกมันจะยังไม่โตเท่าไร จึงทำให้มีการจัดการได้ง่าย ในทางกลับกันทำให้ใช้พื้นที่สร้างรายได้ได้มากที่สุดอีกด้วย

“ปีแรกผมเก็บขายแตงโมขายได้ 2 หมื่นบาท ปีที่ 2 ก็ได้ประมาณ 3 หมื่น และก็ปีที่แล้วได้ 4 หมื่นบาท แต่ปลูกไม่เต็มพื้นที่นะ ผมได้ผลผลิตแต่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วยไม่ใช้ได้แต่มันสำปะหลัง แต่ปีนี้ปลูกเต็มพื้นที่เลยน่าจะได้เยอะนะ แต่ก็ไม่แน่ใจ ปลูกแตงประมาณ 2 เดือนหรือ 68 วัน ครึ่ง พอเสียบมันเสร็จก็เริ่มหยอดแตงเลย เรื่องทุนสำหรับแตงโมก็คือ ซื้อเมล็ดพันธุ์ 1,500 บาท สำหรับทุนด้านปุ๋ยยานี้แต่จะได้รับอานิสงค์จากที่เรามาฉีดพ่นยาให้มันสำปะหลัง แตงโมก็ได้กินด้วย

             ผลผลิตมีการพัฒนานาขึ้นเรื่อยๆ  และแต่ก่อนทำแล้วก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ไม่มีใครมากินที่สวนเลย คนขับรถผ่านไปผ่านมา พอเขารู้ว่าใช้สารเคมีนะเขาก็ไปเลย ไม่ลงมาซื้อ แต่หลังทำมันระบบพิมายโมเดล ซึ่งเป็นอินทรีย์ แตงโมเราก็เลยเป็นอินทรีย์ไปด้วย ผมเก็บขายที่หน้าแปลงนี้เลยโชคดีที่อยู่ติดกับถนนด้วย ก็ขายตรงนี้เลยขายดีจนให้เขามาเก็บเองเลยเราไม่ไหวขายดีมาก ลูกใหญ่ก็ 30 บาท ถ้าซื้อเป็นคู่ก็ขายที่ 50 บาท ส่วนที่เหลือก็ขายเป็นถุงๆละ 20 บาท 

             นอกจากนั้นก็ปลูกข้าวโพดด้วยมีไม่ถึงไร่เก็บขายก็ได้อยู่ประมาณ 1 หมื่นบาท ทำให้ผมมีรายได้ขึ้นดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ ผมสามารถปลดหนี้ได้หมดแล้วในปีนี้ ได้ต่อเติมบ้านไปอีก 6-7 หมื่น ใช้เงินจากการปลูกมันนี่แหล่ะ ไม่ได้กู้ รถไถก็ซื้อสด 4 หมื่นบาท ก็ถือว่าดีแล้ว ติดจานดาวเทียมด้วย ทุกอย่างสบายเลย เงินไม่ขาดกระเป๋า ถึงจะมีไม่เยอะ”



          เกษมและภรรยาให้ข้อมูลเรื่องราวความเป็นมาในการทำไร่มันสำปะหลังในพื้นที่เพียง 8 ไร่ แต่ทำให้เขามีเงินใช้มากขึ้นอย่างไม่ขาดมือนั่นอาจเป็นเพราะมีความเข้าใจในหลังการทำเกษตรแล้วว่าควรเริ่มที่จะปรับปรุงแก้ไข และ พัฒนาส่วนใดบ้าง พร้อมทั้งใช้พื้นที่เกษตรของตนเองได้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ที่สุด

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เข้าเยี่ยมชมแปลงปลูกที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ติดต่อเข้าไปที่ คุณเกษม บุญลือ โทร.08-2863-1043


ข้อมูลจาก นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 63



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น